โรงเรียนสรรพวิทยาคม

ประวัติ  วิสัยทัศน์  พันธกิจ  เป้าประสงค์


ประวัติ 
      ในปี พ.ศ. 2441 ตำบลแม่สอดได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอแม่สอด โรงเรียนประจำอำเภอแม่สอดจึงได้ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2458 เปิดสอนในระดับประถมศึกษา โดยใช้ศาลาวัดมณีไพรสณฑ์เป็นสถานที่เรียน เวลาผ่านไป 20 ปี อำเภอแม่สอดเจริญขึ้น ผู้คนก็มากขึ้น นักเรียนมากขึ้น ผู้บริหารโรงเรียนเปลี่ยนไป 3 ท่าน คือ ในปี พ.ศ. 2460 ถึง 2464 ครูปลีก แสนวงษ์ เป็นครูใหญ่ พ.ศ. 2464 ถึง 2468 ครูทองอยู่ วงษ์ภูมิ เป็นครูใหญ่ พ.ศ. 2468 ถึง 2481 ครูใหญ่คนที่ 4 คือ ครูบริบูรณ์(แนบ) อินทรสูตร ซึ่งในสมัยนั้น พระสมัครสรรพการดำรงตำแหน่งนายอำเภอแม่สอดครั้งที่ 2 ท่านให้ความสำคัญในด้านการศึกษาเป็นอย่างมาก ได้ของบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการมาสร้างอาคารเรียนถาวร เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น ในที่ราชพัสดุริมถนนประสาทวิถี ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนในปัจจุบันนี้ และให้ย้ายโรงเรียนประจำอำเภอแม่สอดมาเปิดสอนเป็นการถาวรที่แห่งนี้
           ใน พ.ศ. 2478 ชาวอำเภอแม่สอดจึงถือว่าพระสมัครสรรพการเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งโรงเรียน
           พ.ศ. 2481 นายมงคล ยุวะเวส ดำรงตำแหน่งครูใหญ่คนที่ 5 ใน พ.ศ. 2486 ได้ขยายชั้นเรียนจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
           พ.ศ. 2489 ถึง พ.ศ. 2497 เป็นสมัยที่นายสุเมธ สารวิทย์ ดำรงตำแหน่งครูใหญ่คนที่ 7 ด้ขยายชั้นเรียนจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และลดชั้นประถมศึกษาลงปีละชั้น
           พ.ศ. 2499 กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาสให้ใช้ชื่อของโรงเรียนว่า โรงเรียนแม่สอด "สรรพวิทยาคม" โดยใช้ราชทินนามของพระสมัครสรรพการ เป็นชื่อของโรงเรียนเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ริเริ่มก่อตั้งโรงเรียน ในสมัยนายเทพ ไกรโชค ดำรงตำแหน่งครูใหญ่คนที่ 8
           พ.ศ. 2521 โรงเรียนแม่สอด "สรรพวิทยาคม" ได้รับการกำหนดตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียน จากตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ เป็นตำแหน่งผู้อำนวยการ ดังนั้นนายจรูญ ฉ่ำกมล จึงได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการคนแรก นายจรูญ ฉ่ำกมล และนายวิรัช คามณีวงศ์ นายกสมาคมศิษย์เก่าในขณะนั้น คณะผู้ปกครองนักเรียนได้ร่วมกันพิจารณาและเสนอขอเปลี่ยนชื่อโรงเรียนเพื่อมิให้เกิดความสับสนกับชื่อของโรงเรียนแม่สอด ซึ่งเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษาของอำเภอ ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการได้อนุมัติให้เปลี่ยนชื่อของโรงเรียนเป็น "โรงเรียนสรรพวิทยาคม" โดยมี ดร.ก่อ สวัสดิพานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ลงนามในหนังสืออนุมัติ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2521
           ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2538 ได้จัดสร้างรูปปั้นพระสมัครสรรพการและจัดตั้งไว้หน้าหอประชุม เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานให้ครู อาจารย์ นักเรียน และชาวแม่สอดได้รู้จักและรำลึกถึงท่าน พระสมัครสรรพการ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำอำเภอแม่สอด และได้ถือเอาวันที่ 30 พฤศจิกายน ของทุกๆ ปี เป็นวันก่อตั้งโรงเรียน
           ในปี พ.ศ. 2551 นี้โรงเรียนของเรามีอายุยาวนานมาครบ 94 ปี ถ้าเป็นอายุของคนเรา คนคนนั้นก็คงจะอยู่ในวัยชรา ที่พลังงานของชีวิตถดถอยลงไป รอวันที่จะร่วงโรยไปตามกาลเวลา แต่นี่ เป็นโรงเรียนเป็นสถาบันการศึกษา ให้ความรู้ ให้การพัฒนาชีวิตแก่เยาวชน เวลา 94 ปี ที่ผ่านมาจึงเป็นตำนานเล่าขานกันสืบไป ถึงการเติบโตที่ค่อยเป็นค่อยไป จากโรงเรียนเล็กๆ ก้าวสู่โรงเรียนขนาดใหญ่

วิสัยทัศน์
   
         พัฒนาผู้เรียนให้มีคุณธรรมนำความรู้ พัฒนาครูให้มีจริยธรรมนำไปสู่มาตรฐาน มีระบบบริหารจัดการดี สืบสานวัฒนธรรมไทย ส่งเสริมประชาธิปไตย ก้าวไกลเทคโนโลยี สู่วิถีความพอเพียง

 

 พันธกิจ

1. ส่งเสริมพัฒนาหลักสูตรและจัดการเรียนรู้ให้ได้มาตรฐานการศึกษาระดับชาติ และสากล เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความสมดุลทั้งด้านความรู้ความคิด และความสามารถเต็มศักยภาพ
2. ส่งเสริมการจัดการการศึกษา อบรมผู้เรียนให้เป้นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม และความรับผิดชอบต่อสังคมบนพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียง
3. ส่งเสริม สนับสนุนการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ
4. พัฒนาสื่อ เทคโนโลยีสารสนเทศ และแหล่งวิทยาการ เพื่อใช้แสวงหาองค์ความรู้สู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้
5. ส่งเสริมและพัฒนาครู และบุคลากรให้เป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรมและได้มาตรฐานวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง
6. ส่งเสริมพัฒนาประสานความร่วมมือระหว่างวัด โรงเรียน ชุมชน สังคม และเครือข่ายผู้ปกครองให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
7. ส่งเสริมและพัฒนาระบบการบริหารจัดการที่ดีสู่ คุณภาพมาตรฐานการศึกษาระดับสากล โดยใช้โรงเรียนเป็นพื้นฐาน
8. ส่งเสริมให้มีความรู้ ความเข้าใจ มีส่วนร่วมในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ วัฒนธรรม และความเป็นไทย



เป้าประสงค์



1. ด้านผุ้เรียน1.1. ผู้เรียนมีคุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง
1.2. ผู้เรียนมีความรู้ และทักษะที่จำเป็นตามหลักสูตรสถานศึกษา
1.3. ผู้เรียนมีสุนทรียภาพและศักยภาพด้านศิลปะ ดนตรี กีฬา
1.4. ผู้เรียนมีจิตสำนึกในความเป็นไทย ใส่ใจในวัฒนธรรม

2. ด้านครู
2.1. ครูมีคุณธรรม และจรรยาบรรณตามมาตรฐานวิชาชีพ
2.2. ครูมีความรู้และทักษะตามมาตรฐานวิชาชีพ
2.3. ครูมีขวัญกำลังใจ ปฏิบัติต่อเพื่อนครูอย่างกัลยาณมิตร และอุทิศตนในการทำงาน

3. ด้านการบริหารจัดการ
3.1. มีระบบการจัดการบริหารการศึกษาที่มีประสิทธิภาพตามหลักธรรมาภิบาลและได้มาตรฐานสากล
3.2. มีระบบเครือข่ายในการพัฒนาการศึกษาร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
3.3. จัดระบบความสัมพันธ์ในการดำเนินกิจกรรมร่วมกัน ระหว่างบ้าน วัด โรงเรียน และชุมชน